กำลังโหลด...

สัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


ตราประจำมหาวิทยาลัย

  • ภาพท้าวสุรนารี สื่อความหมายถึง ปรัชญา และ ภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยเน้น ความ เคารพ และศรัทธาต่อท้าวสุรนารี ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ
  • ภาพเส้นโค้งงอนหงายขนาบ 2 ข้างของภาพข้างละ 4 เส้น เกยและเชื่อมต่อกันเสมือนหนึ่งกระเบื้องมุงหลังคาคร่อมภาพ สื่อความหมายถึง ความสำเร็จทางเทคโนโลยีที่ต่อเนื่องกัน และความเจริญก้าวหน้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด
  • ภาพเชิงนามธรรมของพืชพรรณ และ เฟืองจักร สื่อความหมายถึง การเกษตร และอุตสาหกรรม

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ต้นปีบทอง (Radermachera ignea (Kurz) Steenis) เป็นไม้ยืนต้น ที่ปลูกง่าย ทนทาน โตเร็ว มีทรงพุ่มกว้าง มีดอกสีแสด ซึ่งเป็นสีประจำหาวิทยาลัย สื่อความหมายถึง ความเรียบง่าย ความแข็งแกร่ง ความรุดหน้า และความร่มเย็น


สีประจำมหาวิทยาลัย

  • สีแสด เป็นสีประจำจังหวัดนครราชสีมา, สีธงประจำกองเสือป่านครราชสีมา ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งถือว่าเป็น วันครู
  • สีทอง เป็นสีแห่งความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ และศรัทธา

เพลงประจำมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันสังคมหนึ่งที่ใช้เพลงเป็น สื่อสัญลักษณ์ในโอกาสต่างๆเป็นอันมาก ทั้งในส่วนพิธีกรรมและในการทำกิจกรรมต่างๆ เพลงจะแทรกอยู่จนเป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตในมหาวิทยาลัย จนอาจกล่าวได้ว่า "เพลงเป็นสื่อประสานใจ เป็นสายใยแห่งความสามัคคี เป็นเกียรติ เป็นศรีแก่หมู่คณะ เป็นเครื่องหมายและเครื่องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของมหาวิทยาลัย"

  1. มาร์ชสุรนารี
  2. มาร์ชมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  3. ปีบทอง
  4. ราตรีบีปทอง
  5. ลาร่มปีบทอง
  6. วันลา
  7. รักแสดทอง
  8. รำวงลูกสุรนารี
  9. ยืนดีต้อนรับน้องใหม่
  10. แสดงทองนำชัย
  11. พลัง มทส
  12. WE CHEER SUT
  13. น้ำใจนักกีฬา

ปริญญาบัตรและครุยวิทยฐานะ

ปริญญาบัตร

ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชาและอักษร ย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2542 กำหนดให้ปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดังนี้

  1. สาขาวิชาเทคโนโลยี มีปริญญาสามชั้น คือ
    • เอก เรียกว่า "เทคโนโลยีดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "ทล.ด."
    • โท เรียกว่า "เทคโนโลยีมหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "ทล.ม."
    • ตรี เรียกว่า "เทคโนโลยีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "ทล.บ."
  2. สาขาวิชาแพทยศาสตร์ มีปริญญาสองชั้น คือ
    • เอก เรียกว่า "แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "พ.ด."
    • ตรี เรียกว่า "แพทยศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "พ.บ."
  3. สาขาวิทยาการสารสนเทศ มีปริญญาสามชั้น คือ
    • เอก เรียกว่า "วิทยาการสารสนเทศดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วส.ด."
    • โท เรียกว่า "วิทยาการสารสนเทศมหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วส.ม."
    • ตรี เรียกว่า "วิทยาการสารสนเทศบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วส.บ."
  4. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ
    • เอก เรียกว่า "วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วท.ด."
    • โท เรียกว่า "วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วท.ม."
    • ตรี เรียกว่า "วิทยาศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วท.บ."
  5. สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ
    • เอก เรียกว่า "วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วศ.ด."
    • โท เรียกว่า "วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วศ.ม."
    • ตรี เรียกว่า "วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต" ใช้อักษรย่อ "วศ.บ."

ครุยวิทยฐานะ

  1. ครุยดุษฎีบัณฑิต ทำด้วยผ้าสีเทาเข้ม ยาวครึ่งน่อง ตัวเสื้อผ่าอกตลอดมีซิปหน้า มีแถบผ้าสีแสดกว้าง ๘ เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง มีจีบที่หัวไหล่ ปลายแขนปล่อยกว้างยาวระดับข้อมือ ตอนปลายแขนทั้งสองข้างมีพื้นผ้าความกว้าง ๒๖ เซนติเมตรและมีแถบผ้าสีแสดความกว้าง ๓.๘ เซนติเมตร บนผ้าสีทองเป็นริ้วตามแนวนอน ๓ ริ้ว เรียงบน กลาง ล่าง มีเข็มตรามหาวิทยาลัยติดที่แถบผ้าสีแสด ๒ ข้างที่หน้าอก
  2. ครุยมหาบัณฑิต ทำด้วยผ้าสีเทาเข้ม ยาวครึ่งน่อง ตัวเสื้อผ่าอกตลอดมีซิปหน้า มีแถบผ้าสีแสดกว้าง ๘ เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง มีจีบที่หัวไหล่ ปลายแขนปล่อยกว้างยาวระดับข้อมือ ตอนปลายแขนทั้งสองข้างมีความกว้าง ๒๖ เซนติเมตร และมีผ้าแถบสีแสดความกว้าง ๓.๘ เซนติเมตร บนพื้นผ้าสีทองเป็นริ้วตามแนวนอน ๒ ริ้ว มีเข็มตรามหาวิทยาลัยติดที่แถบผ้าสีแสด ๒ ข้างที่หน้าอก
  3. ครุยบัณฑิต ทำด้วยผ้าสีเทาเข้ม ยาวครึ่งน่อง ตัวเสื้อผ่าอกตลอดมีซิปหน้า มีแถบผ้าสีแสดกว้าง ๘ เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง มีจีบที่หัวไหล่ ปลายแขนปล่อยกว้างยาวระดับข้อมือ ตอนปลายแขนทั้งสองข้างมีพื้นผ้าสีทอง ความกว้าง ๒๖ เซนติเมตร และมีแถบผ้าสีแสดความกว้าง ๓.๘ เซนติเมตร บนพื้นผ้าสีทองเป็นริ้วตามแนวนอน ๑ ริ้ว อยู่ตรงกลาง มีเข็มตรามหาวิทยาลัยติดที่แถบผ้าสีแสด ๒ ข้างที่หน้าอก
  4. ครุยอาจารย์ ทำด้วยผ้าสีเทาเข้ม ยาวครึ่งน่อง ตัวเสื้อผ่าอกตลอดมีซิปหน้า มีแถบผ้าสีแสดกว้าง ๘ เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง มีจีบที่หัวไหล่ ปลายแขนปล่อยกว้างยาวระดับข้อมือ ตอนปลายแขนทั้งสองข้างมีแถบผ้าสีแสดบนพื้นผ้าสีทองเป็นริ้วตามแนวนอน ๕ ริ้ว มีปกไหล่ทำด้วยผ้าสีทอง เย็บติดตัวเสื้อเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายตัดตรงคลุมถึงด้านหลัง มีเข็มตรามหาวิทยาลัยติดที่แถบผ้าสีแสด ๒ ข้างที่หน้าอก
  5. ครุยอธิการบดี ทำด้วยผ้าสีเทาเข้ม ยาวครึ่งน่อง ตัวเสื้อผ่าอกตลอดมีซิปหน้า มีแถบผ้าสีแสดกว้าง ๘ เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง มีจีบที่หัวไหล่ ปลายแขนปล่อยกว้างยาวระดับข้อมือ ตอนปลายแขนทั้งสองข้างมีแถบผ้าสีแสดบนพื้นผ้าสีทองเป็นริ้วตามแนวนอน ๕ ริ้ว มีปกไหล่ทำด้วยผ้าสีทอง เย็บติดตัวเสื้อเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายตัดตรงคลุมถึงด้านหลัง มีเข็มตรามหาวิทยาลัยติดที่แถบผ้าสีแสด ๒ ข้างที่หน้าอก และมีสังวาลห้อยคอ
  6. ครุยนายกสภามหาวิทยาลัย ทำด้วยผ้าสีเทาเข้ม ยาวครึ่งน่อง ตัวเสื้อผ่าอกตลอดมีซิปหน้า มีแถบผ้าสีแสดกว้าง ๘ เซนติเมตร เย็บติดเป็นสาบตลอดด้านหน้าทั้งสองข้าง มีจีบที่หัวไหล่ ปลายแขนปล่อย กว้างยาวระดับข้อมือ ตอนปลายแขนทั้งสองข้างมีแถบผ้าสีทองบนพื้นผ้าสีแสดเป็นริ้วนอน ๕ ริ้ว มีปกไหล่ทำด้วยผ้าสีทอง เย็บติดตัวเสื้อเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายตัดตรงคลุมถึงด้านหลัง มีเข็มตรามหาวิทยาลัยติดที่แถบผ้าสีแสด ๒ ข้างที่หน้าอก และมีสังวาลห้อยคอ